“โอเพนซอร์ส” สำคัญอย่างไร ? ซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ทุกคนร่วมพัฒนาและนำไปใช้

บทความจาก Thai PBS

ในโลกที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโลก และเกิดบริษัทซอฟต์แวร์มากมาย แต่นักพัฒนาจำนวนมากที่อาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน กำลังร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า “โอเพนซอร์ส” (Open Source) เพื่อให้ก็สามารถนำไปใช้ได้ฟรี

“ซอฟต์แวร์” หรือ วิธีการคิดของคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมอื่น ๆ คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่ใดที่มีคอมพิวเตอร์ ชิปประมวลผล หรือ “ไมโครโพรเซสเซอร์” ที่นั่นล้วนมีวิธีการคิดเบื้องหลังที่ทำให้ระบบนั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ออกแบบวิธีการคิดให้กับวงจรไฟฟ้าเหล่านี้เรียกว่าวิศวกรซอฟต์แวร์ ซึ่งก็แบ่งได้หลากหลายรูปแบบตามความเชี่ยวชาญหรืออุตสาหกรรมที่ตัวเองอยู่ เช่น ผู้ออกแบบการทำงานเว็บไซต์ ผู้ออกแบบการทำงานของโปรแกรมคำนวณทางวิศวกรรม หรือผู้ออกแบบระบบปฏิบัติการ

แต่หากจะให้วิศวกรซอฟต์แวร์ทุกคนออกแบบกระบวนการคิดให้กับคอมพิวเตอร์ในทุกขั้นตอนเลยนั้น คงเป็นสิ่งที่ยากมาก ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จึงมีการหยิบยืมเอาโค้ดคอมพิวเตอร์มาจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งในลักษณะของการซื้อขายใบอนุญาต (License) หรือการใช้งานซอร์สโค้ดที่เปิดให้สามารถนำไปใช้ได้ฟรี ที่เรียกว่าโอเพนซอร์ส (Open Source)

“โอเพนซอร์ส” คือซอร์สโค้ดหรือซอฟต์แวร์ที่อนุญาตให้ทุกคนนำไปใช้ได้ฟรี โดยอาจมีข้อตกลงแตกต่างกันออกไป เช่น สามารถนำไปใช้ได้แต่ห้ามนำไปขายต่อ หรือสามารถนำไปทำกำไรได้แต่ต้องมีการกลับมาช่วยปรับปรุงพัฒนาซอร์สโค้ดต้นฉบับให้ดีขึ้นด้วย

โอเพนซอร์สนั้นแทบจะอยู่ในทุกซอฟต์แวร์ที่เราใช้ เช่น ระบบปฏิบัติการกลุ่ม Linux ที่เปิดให้ทุกคนมาร่วมพัฒนา และมีการนำซอร์สโค้ดบางส่วนไปใช้งานเป็นรากของระบบปฏิบัติการอื่น ๆ หรือโปรแกรม WordPress (https://wordpress.org) ระบบเว็บไซต์ที่สามารถให้ใครสามารถโหลดไปใช้ และติดตั้งบนคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ได้ฟรี โดยผู้คนที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านี้ ก็คือกลุ่มชุมชนนักพัฒนาจากทั่วโลก

โอเพนซอร์สอาจเป็นซอฟต์แวร์ในรูปแบบใดก็ได้ อาจจะเป็นโปรแกรมที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เช่น โปรแกรมแต่งภาพ หรือเว็บเบราว์เซอร์ หรืออาจเป็นส่วนประกอบของการนำไปสร้างซอฟต์แวร์อื่น ๆ (Framework) ชุมชนนักพัฒนาอาจใช้งานเครื่องมือที่เรียกว่าเวอร์ชันคอนโทรล (Version Control) อย่าง GitHub ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถพูดคุยสื่อสาร และช่วยกันปรับปรุงซอฟต์แวร์ได้ เช่น โครงการ Supabase (https://github.com/supabase/supabase) ที่เป็นซอฟต์แวร์หลังบ้าน (Backend) ในการจัดการกับเซิร์ฟเวอร์ ฐานข้อมูล และไฟล์สำหรับการให้บริการเว็บไซต์มีจำนวนของผู้ร่วมพัฒนา (Contributor) มากกว่า 900 คน นอกจากนี้ยังมีโครงการอีกมากมายที่เติบโตจากชุมชนนักพัฒนา ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาได้ดีไม่แพ้บริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ ๆ ด้วยโจทย์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง

เราอาจมองได้ว่าวัฒนธรรมโอเพนซอร์สนั้นไม่ใช่แค่การมาร่วมกันทำซอฟต์แวร์ แต่คือการเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดยอาศัยความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์

สนใจสมัครอบรมกับเรา?

หรือ