Meta ปักธงดัน ‘Llama’ ท้าทายคลื่นลูกใหม่ยุค AI

บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ

“AI มีศักยภาพมากกว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมปลดล็อกความก้าวหน้าให้กับธุรกิจและชุมชนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย”

ราฟาเอล แฟรงเคิล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Meta กล่าว

พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ว่า ทิศทางด้าน AI ของ Meta เน้นแนวทางการพัฒนาและสร้างระบบนิเวศที่เป็นแบบเปิด โดยเชื่อว่า โอเพ่นซอร์ส AI เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับทั้งนักพัฒนา ตัว Meta เอง รวมถึงภาพรวมการใช้งานของผู้ใช้งานทุกค

“AI เป็นตัวจักรในการขับเคลื่อนยุคใหม่ของโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ขณะที่ระบบนิเวศแบบเปิดมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียม ความปลอดภัย ไม่จำกัดอยู่แค่รายใดรายหนึ่ง และเป็นหนทางสำหรับอนาคตที่ดีที่สุด”

ล่าสุด Meta ประกาศอัปเดตเวอร์ชันล่าสุดของ Meta AI ได้แก่ “Llama 3.1” (ลาม่า) ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้โมเดลประมวลผลด้วยภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ครั้งนี้ต้องการตอกย้ำถึงเป้าหมายในการส่งเสริมนวัตกรรมและความร่วมมือภายในชุมชน AI โดยการมอบเครื่องมือ AI ที่ล้ำสมัยมากขึ้นให้แก่นักพัฒนา นักวิจัย และธุรกิจต่างๆ

โมเดลภาษาขนาดใหญ่สามารถนำไปต่อยอดได้ในหลากหลายมิติทั้งเชิงธุรกิจ ช่วยธุรกิจเล็กยกระดับการโฆษณา ประหยัดเวลา รวมถึงการทำงานและยกระดับการติดต่อสื่อสารและความปลอดภัยของผู้คน

มีอะไรใหม่ใน Llama 3.1

Llama 3.1 มาพร้อมกับโมเดล 8B และ 70B ซึ่งมีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดตัว Llama 3 405B ซึ่งเป็นโมเดลแบบโอเพ่นซอร์สที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ นำเสนอประสิทธิภาพการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ใช้งานได้ง่าย และมีความสามารถมากกว่าที่เคย

  • ประสิทธิภาพที่เหนือชั้น: เป็นเอไอระบบเปิดที่นำเสนอ ประสิทธิภาพของโมเดลไม่แพ้ระบบปิด (โคลสซอร์ส) ชั้นนำทั้งหมด
  • เพิ่มภาษาที่รองรับ: เพิ่มภาษาที่ให้บริการถึง 8 ภาษา รวมถึงภาษาไทย
  • ปรับปรุงความสามารถในการสนทนา: ขยายการรองรับความยาวเนื้อหามากถึง 128k ช่วยให้การโต้ตอบมีความหลากหลายมากขึ้น
  • ให้เหตุผลได้น่าเชื่อถือมากขึ้น: จัดการกับงานที่ซับซ้อนด้วยความสามารถในการใช้เหตุผล (Reasoning) ที่ดีขึ้น
  • การปรับปรุงระบบการทำงาน: รองรับการสร้างข้อมูลสังเคราะห์และการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโมเดล (Model distillation)
  • AI ที่มีความรับผิดชอบ: องค์ประกอบด้านความปลอดภัยในระบบแบบใหม่ ช่วยให้เกิดการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ
  • อีโคซิสเต็มที่เติบโต: พันธมิตรมากกว่า 30 รายมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนา Llama 3.1 ตั้งแต่เริ่มต้น

มั่นใจ ‘จุดยืน’ อยู่แถวหน้า

หลังจาก Meta ได้เปิดตัวโมเดล Llama รุ่นแรกเมื่อปีที่แล้ว มียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 300 ล้านครั้ง และมีการพัฒนาโมเดลต่อยอดกว่า 20,000 โมเดลสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย

ปัจจุบัน Meta AI เป็นผู้นำทั้งในด้านความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในภาพรวม เนื่องจากมีทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความชาญฉลาด และเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เคย และ Llama 3.1 จะทำให้ Meta สามารถแข่งขันกับรายอื่นๆ ได้

  • ความคิดสร้างสรรค์: ฟีเจอร์ “Imagine Yourself” ช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้ได้ปลดปล่อยจินตนาการของตนเอง ด้วยการสร้างรูปภาพตนเองขึ้นมาใหม่ได้ในทุกสถานการณ์ เครื่องมือแก้ไข AI ใหม่เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ใช้ปรับแต่งรูปภาพที่ Meta AI สร้างขึ้นได้อย่างละเอียด ทำให้ผู้ใช้สามารถเพิ่ม ลบ หรือเปลี่ยนองค์ประกอบในรูปได้ตามที่ต้องการ
  • ความชาญฉลาดในการประมวลผล: Meta AI ช่วยให้ผู้ใช้รับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อน โดยจะได้รับผลลัพธ์หรือคำตอบที่แม่นยำขึ้นสำหรับปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ หรือการเขียนโค้ด รวมถึงจะได้รับประสบการณ์ AI ที่ดีขึ้น โดยมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่องจากความคิดเห็นของผู้ใช้งาน
  • การเข้าถึง: ขณะนี้ Meta กำลังนำ Meta AI เข้าไปใช้ในผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Meta เช่น WhatsApp, Facebook และอีกมากมาย การเพิ่มภาษาที่ให้บริการนั้นยังช่วยให้ Meta AI เข้าถึงผู้ใช้ได้มากขึ้น

โดยโมเดลแบบโอเพ่นซอร์สของ Llama จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถปรับแต่งและฝึกฝนโมเดลของตนเอง รวมถึงรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และช่วยพัฒนาระบบให้แข็งแกร่ง

ปลดล็อกโอกาส AI ในไทย

สำหรับประเทศไทย การอัปเดตล่าสุดนี้จะเข้าไปยกระดับมาตรฐานสำหรับโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สอีกครั้ง โดยการเปิดตัว Llama 3 405B ครั้งนี้นับเป็นการเปิดตัวโมเดลโอเพนซอร์สที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์

Llama 3.1 ยังรวมถึงการอัปเดตโมเดล 8B และ 70B ซึ่งขณะนี้รองรับภาษาไทยแล้ว ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับประเทศไทยได้มากขึ้น

นอกจาก Llama AI จะเพิ่มการรองรับภาษาไทยแล้ว Meta ยังจะจัดการอบรมและโครงการต่างๆ เพิ่มเติมและให้ทุนสนับสนุนมูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับนักพัฒนาและองค์กรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

เช่น ทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants จาก Meta เพื่อเสริมสร้างผลกระทบทางสังคมและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ซึ่งผู้ชนะที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงการสูงสุดถึง 5 แสนดอลลาร์ การประกาศผู้ชนะคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2568, โครงการ AI Accelerator Program สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสในการสร้างเครือข่ายสำหรับนักพัฒนา AI ในภูมิภาค

ในประเทศไทย Meta ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, AI Governance Clinic และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) เพื่อจัดการแข่งขันและคัดเลือกผู้ชนะระดับประเทศจำนวนหนึ่งรายเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคในสิงคโปร์

นอกจากนี้ หลักสูตร AI สำหรับ SMEs ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเปิดหลักสูตรการตลาดด้วย AI สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ ฯลฯ

สนใจสมัครอบรมกับเรา?

หรือ